top of page
Search

เช็กด่วน! 9 สัญญาณติดมือถือ เสพติดโซเชียล และผลเสียต่อสุขภาพ


ผู้หญิงถือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนด้วยสองมือ มองไปที่จอพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้า มีกราฟิกบับเบิ้ลจำนวนผู้ติดตาม ยอดไลค์ และความคิดเห็นเด้งจากจอมือมือ

กิจกรรมหลายอย่างในชีวิตประจำวันง่ายดายขึ้นด้วยอุปกรณ์ขนาดพกพาอย่างสมาร์ทโฟน รู้ตัวอีกทีโทรศัพท์มือถือก็กลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของเราไปเสียแล้ว แต่อย่าได้ละเลยสัญญาณของการเสพติดมือถือและโซเชียลมากเกินไปโดยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นแทนที่มือถือจะเป็นตัวช่วย อาจกลับกลายเป็นผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้อย่างคาดไม่ถึง

...แล้วคุณล่ะมีแนวโน้มเสพติดโซเชียลมีเดียโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า? ลองมาสำรวจตัวเองกับ 9 สัญญาณต่อไปนี้

9 สัญญาณเสพติดโซเชียล 1.โพสต์บอกเล่าเรื่องราวชีวิตถี่ยิบ 2.นั่งเฝ้ายอดไลก์ยอดแชร์ 3. อยู่แต่กับโซเชียลไม่ออกไปไหน 4. ติดมือถือจนกระทบความสัมพันธ์ 5. ตื่นเช้า-ก่อนนอนต้องเช็คมือถือ 6.จดจ่ออยู่กับเสียงแจ้งเตือน 8. กดมือถือทุกครั้งที่ว่าง 9. หงุดหงิดเมื่อไม่มีอินเทอร์เน็ต

ติดมือถือ เสพติดโซเชียลมีเดียมากเกินไป มีผลเสียยังไง?

โซเชียลมีเดียและโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายและมีประโยชน์มากทีเดียวหากใช้อย่างถูกทาง เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถพูดคุยสื่อสารกันแบบเห็นหน้าและไม่เห็นหน้า ย่นระยะความห่างไกลให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น หรือหากจะอัปเดตข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็ทำได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ ทั้งยังเป็นแหล่งการศึกษาค้นคว้าที่เรียกได้ว่ากว้างใหญ่และครอบคลุมที่สุด เป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ และเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกในยามต้องการคำปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากผู้รู้

อย่างไรก็ตาม โลกโซเชียลก็เปรียบเสมือนดาบสองคม การใช้เวลาส่วนนี้มากเกินไปอาจทำให้คุณเสพติดโลกเสมือนจริงใบนี้จนควบคุมพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของตัวเองไม่ได้ CHEW ON รวบรวมผลเสียที่อาจเกิดขึ้น หากคุณปล่อยให้โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลเหนือการใช้ชีวิตของคุณใน 5 ข้อต่อไปนี้

1. มีความสุขความพึงพอใจในชีวิตน้อยลง

แม้ช่องทางการสื่อสารผ่านทางออนไลน์จะช่วยเชื่อมต่อตัวเรากับผู้คนมากหน้าหลายตา แต่ก็มีงานวิจัยชี้ว่าเมื่อไรก็ตามที่เราเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์จนตัดขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างในชีวิตจริง เมื่อนั้นคุณอาจยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยวและมีความสุขน้อยลงเรื่อยๆ

2. เกิดความรู้สึกอยากได้อยากมีเหมือนคนอื่น

เมื่อเห็นรูปเพื่อนๆ ไปเที่ยวอย่างมีความสุข กินอาหารดีๆ ใช้ของแบรนด์เนมหรือโชว์ไลฟ์สไตล์หรูหราผ่านโซเชียลมีเดีย อาจทำให้เกิดการเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับชีวิตคนอื่น จนรู้สึกด้อยกว่าหรือเกิดความรู้สึกอิจฉา นานวันเข้าความรู้สึกเช่นนี้ก็อาจเป็นปัจจัยให้เกิดอาการของภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ตามมาได้

3. หงุดหงิดกระวนกระวายง่าย สมาธิสั้น

คนที่เสพติดโซเชียลมักอยากเช็กโทรศัพท์มือถือเพื่ออัปเดตเรื่องราวของตนเองหรือติดตามความเป็นไปในโลกออนไลน์ตลอดเวลา ว่างเมื่อไหร่เป็นต้องหยิบมือถือขึ้นมาเล่นฆ่าเวลาเสมอ และกระวนกระวายเมื่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตขาดหายหรือมีเหตุให้เข้าใช้งานโซเชียลไม่ได้ ซึ่งผลของการเสพติดนั้นจะทำให้ขาดสมาธิในการจดจ่อกับงานหรือกิจกรรมอื่นที่กำลังทำอยู่ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานและความคิดสร้างสรรค์ลดน้อยลง หรือกว่าจะรู้ตัวก็เสียเวลามากมายไปกับการไถหน้าจอ แทนที่จะทำกิจกรรมอื่นที่สำคัญกว่าให้เสร็จสิ้น

4. เสี่ยงเป็นเหยื่อและผู้กระทำการกลั่นแกล้งด่าทอในโลกออนไลน์ (Cyberbullying)

ในโลกเสมือนจริงที่ตัวตนของทุกคนอยู่เบื้องหลังคีย์บอร์ด ไม่มีการเปิดเผยหน้าตาหรือชื่อจริง การคุกคามผู้อื่นจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ซึ่งแม้จะเป็นเพียงคำพูดร้ายๆ จากคนๆ เดียว ก็อาจส่งผลต่อจิตใจของเหยื่อที่ถูกบุลลี่อย่างรุนแรง และอาจทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า ดังที่เรามักได้ยินข่าวการบุลลี่ในโลกออนไลน์ที่รุนแรงจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายบ่อยครั้ง และไม่แน่ว่าวันดีคืนดีอาจกลายเป็นคุณเองที่ตกเป็นเหยื่อของการต่อว่าหรือการประนามที่เกินเหตุ หรือบางทีก็อาจเป็นคุณเองที่เป็นผู้กระทำและสนับสนุนวงจรของการล่าแม่มดโดยไม่รู้ตัว


การใช้โซเซียลจึงต้องระมัดระวัง หมั่นคอยเตือนตัวเองให้มีสติ วิเคราะห์กลั่นกรองในการเสพสารน์ทุกครั้ง นั่นก็เพราะความรวดเร็วของการเสพและเผยแพร่สื่อในโลกออนไลน์ทำให้การด่วนตัดสินผู้อื่นจากเพียงเสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวที่เราได้รับรู้และใช้ถ้อยคำต่อว่าอย่างคึกคะนองนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว

5. ปัญหาสุขภาพกาย

นอกจากผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจ การจ้องหน้าจอต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างตาพร่าหรือตาแห้ง อาการปวดคอปวดหลังจากท่าทางการก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ รวมไปถึงการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือจากลักษณะการเคลื่อนไหวข้อมือและนิ้วมือแบบเดิมซ้ำๆ ไม่เพียงเท่านี้นักวิจัยยังพบว่าการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอมือถือเป็นเวลานานยังอาจก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ ส่วนใครที่ชอบเล่นโทรศัพท์ก่อนนอนก็ต้องระวังให้ดี เพราะแสงไฟจากหน้าจอนั้นอาจทำให้นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท หรือเกิดภาวะนอนไม่เต็มอิ่มสะสมได้

แม้โทรศัพท์มือถือจะช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบายและก้าวไปข้างหน้า แต่หากใช้ในทางที่ผิดก็อาจกลายเป็นอุปสรรคฉุดรั้งชีวิตเสียมากกว่า โซเชียลมีเดียเป็นตัวเชื่อมเราทุกคนเข้าด้วยกันก็จริง แต่ถ้าปล่อยให้โลกเสมือนจริงใบนี้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของคุณจนละเลยความสัมพันธ์และสิ่งสำคัญในชีวิตจริง ก็เท่ากับว่าคุณกำลังถูกควบคุมโดยเทคโนโลยี ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นคุณเองที่ควบคุมและใช้ประโยชน์จากมัน

ไหนใครคิดว่าตัวเองกำลังเสพติดและเป็นทุกข์จากการใช้โซเชียลมีเดียอยู่บ้าง? คราวต่อไปเราจะมาดูกันว่ามีวิธีแก้อาการติดโซเชียลและลดพฤติกรรมติดมือถืออย่างไรได้บ้าง รอติดตามตอนต่อไปน้า

 
 
 

Comments


Recent Posts

© 2023 by Glorify. Proudly created with Wix.com

bottom of page