STOP UNIVERSITY HAZING | รับน้องใหม่(ไม่)สร้างสรรค์
- supatsorn93
- 17 ส.ค. 2566
- ยาว 1 นาที
บทความนี้เขียนเมื่อปี 2014... ไม่ว่าผ่านไปกี่ปี การรับน้องที่ใช้ความรุนแรง ทั้งทางการกระทำ คำพูด หรือการใช้อำนาจ ยังคงมีให้เห็นตามข่าวอยู่เสมอ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะช่วยกันเปลี่ยนแปลง สร้างสังคมแห่งการใช้เหตุผล ทั้งในโรงเรียน มหาลัย ที่ทำงาน ไปจนถึงหน่วยที่สำคัญที่สุดอย่างครอบครัว

ภาคการศึกษาใหม่เริ่มขึ้นพร้อมบรรยากาศอึกทึกครึกครื้นของเสียงกลองที่ดังกึกก้องตามคณะต่างๆ น้องใหม่หน้าละอ่อนไม่ประสีประสาก้าวขาเข้ามาในรั้วสีเขียวเวอร์ริเดียนอย่างเต็มตัวแล้ว และประเพณีการรับน้องใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์บางอย่างก็เวียนมาอีกครั้งในทุกคณะของมหาวิทยาลัยแห่งนี้….
"รับน้อง" เป็นประเพณีที่มีมานานแล้วทั่วโลก การรับน้องใหม่ในสถาบันการศึกษาเริ่มขึ้นเมื่อ 700 ปีมาแล้วในทวีปยุโรป และได้แพร่หลายไปพร้อมกับชาวยุโรปที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในทวีปอเมริกาเหนือและดินแดนต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้อาณานิคม พวกเขาได้นำประเพณีรับน้องแพร่ไปสู่สถานศึกษาทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ประเพณีนี้ปัจจุบันเลือนหายไปจากยุโรปสิ้น ตรงกันข้ามกลับเบ่งบานท่ามกลางทวีปอเมริกาเหนือและเอเชีย นำไปสู่ความรุนแรงในสถาบันการศึกษาจนเป็นข่าวให้เห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นเหล่านี้มีสาเหตุมาจากการใช้อำนาจ (ที่ตนไม่มีแต่ทึกทักไปเองว่ามี) ของรุ่นพี่ในทางที่ผิดอย่างเหิมเกริม ขาดการไตร่ตรอง และปราศจากความรับผิดชอบต่อผลของการกระทำที่จะเกิดขึ้น
ในความคิดของคนในสังคมไทยดูเหมือนจะแบ่งการรับน้องเป็นสองประเภทคือ การรับน้องแบบใช้ความรุนแรงหรือระบบว้าก กับการรับน้องแบบไม่ใช้ระบบว้าก แต่คงจะไม่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายหากจะแบ่งกันเช่นนี้จริงๆ เพราะแต่ละแบบต่างสอดแทรกการรับน้องไว้ทั้งสองแบบ ระบบว้ากแทรกความละมุนละไม เมื่อมีพี่ว้ากก็มีพี่ที่คอยปลอบใจ
ด้านฝ่ายที่ไม่ใช้ระบบว้ากเองแม้ดูใสสะอาดแต่แท้จริงแล้วก็แฝงการใช้ความรุนแรงไว้เช่นกัน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเสมอในการรับน้องใหม่เหล่านี้คือการใช้อำนาจ โดยเชื่อว่าอำนาจนี้จะทำให้น้องๆ เชื่อฟัง อำนาจที่ได้มาโดยอ้างความมีประสบการณ์หรืออายุที่มากกว่าเท่านั้นเอง
การรับน้องควรเป็นการสร้างความสนิทสนมเพื่อให้คำแนะนำในการปรับตัวสู่สภาพแวดล้อมใหม่ ไม่ใช่การใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงรุ่นน้องให้เคารพและเชื่อฟังโดยอ้างความกลมเกลียวสามัคคีประหนึ่งเตรียมออกรบ...
รับน้องใหม่ เครื่องมือใช้ความรุนแรงอย่างชอบธรรม...
“ถ้าแค่นี้คุณยังทนไม่ได้ แล้วต่อไปภายภาคหน้าทำงานจะไหวไหม!”
คำถามคือ ทำไมต้องทน ? ไม่ว่าจะถูกผิดอย่างไรก็ต้องก้มหน้ายอมรับผิดตามยถากรรมแห่งการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างนั้นหรือ ไม่มีสิทธิโต้เถียงหรืออธิบายเหตุผลใดๆ อย่างที่น้องๆ ไม่มีสิทธิจะฝ่าฝืนคำสั่งของรุ่นพี่ไม่ว่าจะกรณีใดใช่หรือไม่
ใช่แน่ทีเดียว พวกรุ่นพี่ทั้งหลายกำลังสอนให้รุ่นน้องปรับตัวเข้ากับสังคมได้ แต่เป็นสังคมที่คนกลุ่มที่เรียกตนเองว่ารุ่นพี่ได้มีส่วนสร้างขึ้นสืบต่อกันมาช้านานรุ่นต่อรุ่น ถ่ายทอดค่านิยมยกย่องอำนาจและกดผู้น้อยให้ต่ำกว่าอย่างไรล่ะ ไม่ผิดเลยหากจะกล่าวว่าการรับน้องนี้เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงทางวัฒนธรรมที่กลายเป็นพื้นฐานร่วมสร้างความรุนแรงเชิงโครงสร้างอีกทีหนึ่ง พูดให้เข้าใจง่ายก็คือการรับน้องเป็นวัฒนธรรมที่ปลูกฝังค่านิยมอาวุโสที่สามารถก่อตัวเป็นกระบวนการเพิ่มช่องว่างระหว่างมนุษย์และความต่างชั้นทางสถานภาพทางสังคมต่อไปได้
“ถ้าพวกผมไม่ออกคำสั่ง ไม่บังคับ แล้วจะมีใครเห็นความสำคัญมาเข้าร่วมกิจกรรมไหม!”
คำตอบคือ ต่อให้ไม่มีใครมาร่วมพิธีกรรมอันคิดว่าศักดิ์สิทธิ์ของพวกคุณเลย พวกคุณก็ไม่มีสิทธิอะไรไปบังคับพวกเขา ตราบใดที่พวกเขายังมีสิทธิเสรีภาพในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในการเลือกจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมก็ได้
บ่อยครั้งต้องงัดไม้ตาย………
“ใครจะเข้าไม่เข้าไม่เป็นไร ผมไม่บังคับคุณ แต่พวกคุณที่นี่จำไว้ว่าพวกเขาคือคนที่ปล่อยให้คุณต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคแต่เพียงลำพัง!” ว่ากันไปนั่น
กลายเป็นว่าคนที่ไม่เข้ารับการรับน้องเป็นพวกทิ้งเพื่อน ทรยศ ซึ่งบางทีอาจจะกินความหมายในเชิงประหนึ่งพวกไร้อารยธรรม ไม่ควรค่าแก่การคบหา จนถึงขั้นเกิดการแอนตี้หมู่และไม่ถูกยอมรับจากเพื่อนๆ ในคณะ ทั้งที่เขาเพียงเลือกใช้เวลากับสิ่งที่เห็นว่ามีประโยชน์มากกว่าและไม่ต้องการอยู่ในสังคมไร้เหตุผลที่เหล่ารุ่นพี่สร้างขึ้นมา ไม่ต้องถูกบังคับด้วยกฎเกณฑ์ที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่เคยปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าจะเกิดประโยชน์อันใด และบางกิจกรรมยังอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อีกด้านหนึ่ง สำหรับผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับน้องแล้ว ประเพณีอึกทึกนี้ส่งเสียงปลุกขวัญนักศึกษาไปทั่วอาณาบริเวณหลังคาสีเขียวน้ำทะเลแห่งนี้เสมอ ไปถึงคนที่อ่านหนังสืออยู่ในหอสมุด ถึงหอพักนักศึกษาที่ไม่น่าจะช่วยกล่อมนอนให้เข้าภวังค์เร็วขึ้นสักนิด ตรงกันข้ามบางคนตาสว่างลุกขึ้นมากร่นด่าสาปแช่งลงสื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นประเด็นร้อนให้ชาวคณะที่ถูกพาดพิงถึงต้องลุกฮือมารุมตอบโต้เสียยกใหญ่
“นี่! รับน้องเขามีทุกปีนะ ที่ไหนๆ ก็ต้องทำกัน คงจะไม่เคยเข้าล่ะสิถึงเคยไม่เข้าใจประเพณีเขาเลย พวกแกะดำ”
“พวกเราทำเพื่อความสามัคคีเป็นหนึ่ง คนแบบเธอคิดได้แค่นี้แหละ เห็นแก่ตัว ตัวเองเดือดร้อนนิดหน่อยเป็นไม่ได้”
“เสียงดังครึกครื้นงี้สิไม่เงียบเหงา ต้องการความสงบเชิญที่ป่าช้าครับ”
เนื่องจากนักศึกษาที่สบถลงโลกออนไลน์คนนี้ใช้คำค่อนข้างรุนแรงในการระบายความอัดอั้นตันใจ มีการใช้ถ้อยคำด่าว่าผู้ก่อความไม่สงบทางเสียง จึงกลายเป็นเรื่องโด่งดังทั้งโซเชียล แต่น่าแปลกที่คำตอบโต้ของฝ่ายผู้ละเมิดความผาสุกของการพักผ่อนยามค่ำคืนดูจะไม่ได้โจมตีที่ถ้อยคำหยาบคายเหล่านั้น พวกเขาต่างปกป้องความเชื่อและความศรัทธาต่อประเพณีการรับน้อง บางคนไม่ได้ตระหนักถึงความผิดข้อที่ก้าวก่ายรบกวนผู้อื่นหรือส่งเสียงดังในเวลาที่ไม่เหมาะสมด้วยซ้ำ คล้ายกับว่าพวกเขาไม่สนใจไม่ต้องการฟังคำวิพากษ์วิจารณ์หรือเหตุผลใดๆ ที่ขัดต่อประเพณีรับน้องนี้เลย
การจะสร้างความสนิทสนมรักใคร่กลมเกลียวนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะด้วยการกระทำหรือคำพูด อำนาจไม่ควรนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการกดขี่ผู้อื่น ความเคารพนับถือที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นด้วยการแสดงวุฒิภาวะทางจิตใจและทางอารมณ์ที่เหมาะสม ไม่ได้เกิดขึ้นจากวัยวุฒิที่มากกว่า
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่สังคมในมหาวิทยาลัยของเราจะเป็นสังคมแห่งการคิดอย่างมีเหตุมีผล ให้นักศึกษาอย่างเรามีอิสระในการกระทำและความคิดที่เป็นตัวของตัวเอง อิสระในการแต่งกาย ไว้ทรงผม และแสดงออกทางความคิดตามสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงมีตั้งแต่เกิด แทนที่การถูกบังคับให้เชื่อและปฏิบัติตามอย่างไร้ข้อโต้แย้งในระบบคร่ำครึที่ชื่อว่า "การรับน้อง" หรือ “โซตัส”
Comments